วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

ชนิดของเซลล์ประสาท

 ชนิดของเซลล์ประสาท

1. จำแนกตามรูปร่าง สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) เซลล์ประสาทชั้นเดียว (Monopolar Neuron หรือ Unipolar Neuron) หมายถึง เซลล์ประสาทที่มีใยประสาทออกจากตัวเซลล์เพียงแขนงเดียว แล้วแตกเป็นแขนงย่อยอีก 2 แขนง คือเดนไดรต์กับแอกซอน เซลล์ประสาทชนิดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่มีตัวเซลล์อยู่ในปมประสาท เช่น ที่ปมประสาทรากบนของไขสันหลัง (Dorsal Root Ganglion)
2) เซลล์ประสาทสองขั้ว หมายถึง เซลล์ประสาทที่มีแขนแตกออกจากตัวเซลล์ 2 แขนง โดยแขนงหนึ่งทำหน้าที่เป็นเดนไดรต์ ส่วนอีกแขนงหนึ่งทำหน้าที่เป็นแอกซอน ทั้งเดนไดรต์และแอกซอนจะมีความยาวใกล้เคียงกัน เซลล์ประสาทประเภทนี้ส่วนใหญ่ทำหน้าที่รับความรู้สึก เช่น เซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่พบที่เรตินาของนัยน์ตา เซลล์ประสาทรับกลิ่นที่จมูก และเซลล์ประสาทที่รับความรู้สึกเกี่ยวกับความสั่นสะเทือนภายในหู เป็นต้น
3) เซลล์ประสาทหลายชั้น (Multipolar Neuron) เป็นเซลล์ประสาทที่มีแขนงยื่นออกจากตัวเซลล์หลายแขนงโดยมีเดนไดรต์หลาย ๆ แขนง แต่มีแอกซอนเพียงแขนงเดียว เซลล์ประสาทชนิดนี้จะมีเดนไดรต์สั้น แอกซอนยาว ในเซลล์ประสาทของคนจะพบเซลล์ประสาทนี้มากที่สุด เซลล์ประสาทหลายขั้วทำหน้าที่เป็นเซลล์ประสาทประสานงานและเซลล์ประสาทนำคำสั่ง พบมากที่สมองและไขสันหลัง
2. จำแนกหน้าที่การทำงาน สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
1) เซลล์ประสาทรับความรู้สึก (Sensory Neuron หรือ Afferent Neuron) เป็นเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้วนำกระแสประสาทไปยังระบบประสาทส่วนกลาง เซลล์ประสาทรับความรู้สึกอาจเป็นเซลล์ประสาทขั้วเดียว เช่น ที่พบในปมรากบนของไขสันหลัง หรืออาจเป็นเซลล์ประสาทชนิด 2 ขั้วก็ได้ เช่น เซลล์ประสาทรับกลิ่นที่จมูก เซลล์ประสาทรับเสียงที่หู และเซลล์ประสาทที่พบในเรตินาของนัยน์ตา เป็นต้น
2) เซลล์ประสาทนำคำสั่ง (Motor Neuron หรือ Efferent Neuron) เป็นเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่นำกระแสประสาทจากสมองหรือไขสันหลังไปยังหน่วยปฏิบัติงานซึ่งอาจเป็นกล้ามเนื้อหรือต่อมต่าง ๆ ในร่างกาย โดยทั่วไปเซลล์ประสาทนำคำสั่งจะเป็นเซลล์ประสาทประเภทหลายขั้ว
3) เซลล์ประสาทประสานงาน (Associative Neuron ) เป็นเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งกระแสประสาทจากเซลล์ประสาทเซลล์หนึ่งไปยังเซลล์ประสาทอีกเซลล์หนึ่งืพบในระบบประสาทส่วนกลางและเซลล์ประสาทประเภทหลายขั้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น